ความเป็นมาโครงการ

ที่พักริมทาง (Rest Area) เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อเป็นจุดแวะพักของผู้ใช้ทาง มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ขับขี่เดินทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ช่วยป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากความเหนื่อยล้าหรือหลับในของผู้ขับขี่ โดยภายในพื้นที่ดังกล่าว มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ที่จอดรถ ศาลาพักผ่อน ห้องน้ำ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้า สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการแก่ประชาชน ควบคู่กับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย ตลอดจนช่วยให้ผู้ใช้ทางประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเข้า-ออกทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองโดยไม่จำเป็นอีกด้วย

เพื่อลดภาระงบประมาณ และส่งเสริมให้เอกชนที่มีศักยภาพ มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ กรมทางหลวงจึงดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โดย เปิดโอกาสให้เอกชนนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาร่วมในการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ภายใต้แนวทางการให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost

ข้อกำหนดกรมทางหลวง เรื่อง มาตรฐานและลักษณะที่พักริมทางในเขตทางหลวงพิเศษและทางหลวงสัมปทาน พ.ศ.2566

(1) ศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) ที่พักริมทางหลวงขนาดใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ขึ้นไป โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการครบทุกประเภท จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นจุดแวะพักหลักสำหรับผู้ใช้ทาง

(2) สถานที่บริการทางหลวง (Service Area) ที่พักริมทางขนาดกลาง มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ขึ้นไป โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอย่างเพียงพอต่อการใช้งาน จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นจุดแวะพักหลักสำหรับผู้ใช้ทาง

(3) จุดพักรถ (Rest Stop) ที่พักริมทางขนาดเล็ก มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ขึ้นไป โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการอย่างเพียงพอต่อการใช้งาน จัดให้มีขึ้นเพื่อเป็นจุดแวะพักเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้ทาง หรือสำหรับผู้ใช้ทางบางประเภทเป็นการเฉพาะ เช่น จุดพักสำหรับผู้ขับขี่รถบรรทุก

แนวคิดการออกแบบที่พักริมทาง

  • จัดให้มีที่พักริมทางทั้ง 2 ทิศทางของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และอยู่ตรงข้ามกันเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ
  • ออกแบบโครงการ ให้อยู่นอกเขตแนวสายทางปกติของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
  • ออกแบบโครงการทั้ง 2 ทิศทาง ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทั้งฝั่งขาเข้าและขาออก
  • ออกแบบโครงการ เพื่อรองรับการให้บริการในด้านต่าง ๆ เช่น ที่จอดพักรถ การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงการซ่อมรถ การรับประทานอาหารเครื่องดื่ม การใช้บริการห้องน้ำ การรับบริการสื่อสาร (โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต) การรับข้อมูลข่าวสารการเดินทาง
  • ออกแบบอาคารภายในโครงการ โดยคำนึงถึงประโยชน์การใช้สอยเป็นหลัก โดยยึดเอารูปแบบการใช้งาน (Function) เป็นสำคัญ ประกอบกับรูปแบบอาคารที่เหมาะสม โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
    • จัดให้มีองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ตามประกาศกรมทางหลวง
    • จัดผังบริเวณอาคารให้เหมาะสมแก่การเข้าถึง
    • มีทางเดินเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม
      – มีการป้องกันแดด กันฝนได้ดี
      – ใช้วัสดุท้องถิ่นเป็นส่วนตกแต่งอาคาร
      – จัด Landscape ให้สวยงาม ร่มรื่น
      – จัดพื้นที่จอดรถให้เป็นสัดส่วน และเพียงพอ
      – จัดช่องทางเดินรถเข้าออกให้สะดวก ไม่ทำให้เกิดแถวคอย และไม่กระทบต่อผู้ใช้ทางหลวงพิเศษ
      ระหว่างเมือง รวมถึงสามารถใช้ทางบริการโดยรอบได้อย่างสะดวกและมีความปลอดภัย
      – มีป้ายบอกช่องทางเข้า – ออก และป้ายสถานที่ภายในโครงการ ที่ชัดเจน
    • ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโครงการ ให้สร้างบรรยากาศที่กลมกลืนระหว่างตัวอาคารกับธรรมชาติ
      สร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่เข้าใช้บริการโครงการ
    • ออกแบบโครงการ ให้มีรูปแบบที่งดงาม เป็นเอกลักษณ์น่าจดจำให้แก่ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง
      พื้นที่ และชุมชนโดยรอบโครงการ
    • ออกแบบโครงการโดยนำร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกมารวมกันไว้ ณ จุดเดียวบนอาคารยกระดับที่คร่อมอยู่เหนือช่องจราจรมอเตอร์เวย์ เพื่อรองรับการใช้บริการของผู้ใช้ทางจากทั้งสองฝั่ง ทำให้สามารถประหยัดพื้นที่ก่อสร้างบนพื้นราบ และนำพื้นที่ดังกล่าวไปใช้รองรับรถยนต์ได้เพิ่มขึ้น โดย M6 ก่อสร้างที่สถานที่บริการทางหลวงสระบุรี และจุดพักรถข้ามทะเลสอ ส่วน M81 ก่อสร้างบริเวณสถานที่บริการทางหลวงนครชัยศรี